ผมหาแพนแกรม (Pangram) หรือประโยคที่มีตัวอักษรไทยครบถ้วนสำหรับ Thai Unicode ไม่ได้ เลยนั่งแต่งโคลงสี่สุภาพอยู่ครึ่งวัน ค้นดูในเว็บเห็นฝรั่งเขาเรียกแพนแกรมประเภทนี้ว่า Poetgram เลยอยากเรียกแบบไทยๆ ว่า กวีแกรม กับเขาบ้าง

กีฬาบังลังก์ ฿๑,๒๓๔,๕๖๗,๘๙๐

๏ จับฅอคนบั่นต้อง อาญา
ขุดฆ่าโคตรฃัตติยา ซ่านม้วย
ธรรมฤๅผ่อนรักษา ใจชั่ว โฉดแฮ
สืบอยู่เต็มศึกด้วย ฝุ่นฟ้ากีฬา กามฦๅ ฯ
๏ กตัญญูไป่พร้อม ปฐมฌาน
เกมส๎วัฒน์ปฏิภาณ ห่อนล้ำ
ทฤษฎีถ่อยๆ สังหาร เกณฑ์โทษ
โกรธจี๊ดจ๋อยจ่มถ้ำ อยู่เฝ้า “อตฺตา” ๚ะ๛

๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๘

ข้อมูลอ้างอิง

“กีฬาบังลังก์” เป็นโคลงสี่สุภาพที่ได้แรงบันดาลใจจากซีรี่ส๎โหดๆ อย่าง Game of Thrones ในโคลงจะมีส่วนที่ผิดฉันทลักษณ์บ้างเพราะพยายามจะใส่ไม้ตรี, ไม้จัตวา และ ไม้ยมก (ซึ่งปกติไม่ค่อยใช้ในร้อยกรอง) และขาดเลขไทยไป ผมเลยตั้งชื่อโคลงให้มีตัวเลขไทยทั้งสิบตัวซะเลย

การใช้ ยามักการ ในโคลงนั้น เช่นคำว่า เกมส๎ ถอดรูปจาก Games ผมไม่ได้โมเมขึ้นมาเองนะครับ อ้างอิงจากวิธีถอดรูปคำอังกฤษเป็นไทยแบบหนึ่ง ศึกษาได้จากบทความ/ความคิดเห็นของ คุณมกุฏ อรฤดี (ศิลปินแห่งชาติ) และ คุณนิตยา กาญจนะวรรณ (ราชบัณฑิตภาคีสมาชิก) เช่น คำว่า England ถอดรูปเป็น อิงแคลนด๎ หรือ Charles เป็น ชาร๎ลส๎ เป็นต้น และใช้พินทุสำหรับคำบาลีและสันสกฤตเพื่อบอกว่าพยัญชนะตัวนั้นไม่มีสระตามมา เช่นคำว่า อตฺตา (ออกเสียงในภาษาไทยว่า อัตตา) เป็นต้น

ส่วนคำที่ใช้ กับ ผมดูจาก Wikipedia ว่ามีคำไหนบ้างที่เอามาใช้กับ ฃอฃวด และ ฅอฅน ได้แบบไม่ฝืนเกินไป อย่างน้อยก็ ในทางทฤษฎีของจิตร ภูมิศักดิ์ เช่นคำว่า ฃัตติยา และคำว่า ฅอคน ผมใช้ในความหมาย คอของมนุษย์แต่ละคน แต่ผมไม่อาจยืนยันได้ว่าข้อมูลในวิกิพีเดียถูกต้องหรือไม่นะครับ เพราะผมไม่ได้ศึกษาข้อมูลชั้นต้นเอง

เมื่อเช็คตัวอักษรในโคลงดูหลายรอบแล้วก็สรุปว่า “กีฬาบังลังก์” มีครบทุก code points สำหรับตัวอักษรไทย และมีคำสำหรับตัวอักษรเจ้าปัญหาเพื่อเช็คความถูกต้องของ OpenType features ด้วย เช่นคำว่า กตัญญู ไป่ ฝุ่น ฟ้า เป็นต้น ขาดคำที่มีสระล่างตัวต่ำอย่างคำว่า กฎุมพี แต่มี ฤ + ๅ กับ ฦ + ๅ ไว้เช็ค ligatures (ถ้าฟอนต์ตัวนั้นๆ ทำไว้)

ใครพบว่าขาดตัวอักษรอะไรไปก็แจ้งกันได้นะครับ (ผมจะได้แต่งใหม่ :) หรือใครแต่งให้สั้นกว่านี้ได้ก็บอกผม จะได้ขอมาใช้ด้วย!

แป้นพิมพ์ที่รองรับการใช้งาน

แป้นพิมพ์ที่สามารถใช้กับตัวอักขระไทยได้ครบ คือ มอก. 820-2538 ซึ่งใน GNU+Linux desktop ส่วนใหญ่จะมีอยู่แล้ว คือ Thai (TIS-820.2538) สำหรับ Mac OS ผมทำไว้ชื่อ Boon-KB อ่านข้อมูลเกี่ยวกับการติดตั้งและใช้งานเพิ่มเติมได้ที่ กระทู้ใน f0nt.com (ผมไม่ได้ใช้ Windows เลยไม่รู้ว่าเขามีแป้นพิมพ์ มอก. 820-2538 รึเปล่า?)

แพนแกรมอื่นๆ

จริงๆ ก็มีแพนแกรมภาษาไทยที่มีเนื้อหาในแง่ดีกว่าที่ผมแต่งนะครับ อย่างเช่น “๏ เป็นมนุษย์สุดประเสริฐเลิศคุณค่า …” แต่ขาดไป 6-7 ตัว คือ ฃ ฅ ฦ ◌ฺ ◌๎ ๚ ๛ ส่วนประโยคด้านล่างนี้ก็สั้นดีแต่ขาดสระและวรรณยุกต์ไปหลายตัว (ไม่แน่ใจว่าใครเป็นผู้แต่ง แต่ดูเหมือนจะโด่งดังเพราะรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง)

นายสังฆภัณฑ์ เฮงพิทักษ์ฝั่ง ผู้เฒ่าซึ่งมีอาชีพเป็นฅนขายฃวด ถูกตำรวจปฏิบัติการจับฟ้องศาล ฐานลักนาฬิกาคุณหญิงฉัตรชฎา ฌานสมาธิ

และเหตุผลที่ต้องใส่ตัวอักษรที่แทบไม่มีใครใช้ไว้ในฟอนต์ไทยก็เพราะว่า เราควรทำฟอนต์ให้รองรับวิธีเขียนของคนในอดีตด้วย ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ในมุมหนึ่งศึกษาได้จากการเปลี่ยนแปลงวิธีเขียนถ้อยคำ เราเดาได้คร่าวๆ ว่าคำแต่ละคำเคยใช้กันในยุคไหน ถ้าฟอนต์ไทยไม่มี ฃ กับ ฅ และตัวอักขระพิเศษอื่นๆ เราก็คงไม่มีวิธีป้อนข้อมูลด้วยตัวอักษรของคนยุคก่อนสำหรับเอกสารดิจิทัลในยุคปัจจุบัน (แบบเดียวกับที่เราพิมพ์ตัวอักษรจากศิลาจารึกในคอมพิวเตอร์โดยตรงไม่ได้ เพราะเราไม่มีตัวลายสือไทยในฟอนต์นั่นเองครับ!)