คำเตือนก่อนอ่าน: บทความนี้ใช้ฟอนต์ได้เละเทะมากทีเดียว!

ตั้งใจจะเขียนบอกนักพัฒนาเว็บทั้งหลายไว้นานแล้วว่า “คุณสามารถทดลองใช้งานฟอนต์เกือบทุกตัวของฟอนต์อยู่นี่ได้โดยไม่ต้องดาวน์โหลดครับ” เพียงแค่เพิ่ม stylesheet กับ class ใน HTML ก็พอ วิธีการก็คล้ายๆ กับที่เราใช้ Google Fonts API นั่นแหละครับ (แต่ยังไม่มีวิธีเลือกใช้ฟอนต์แบบซับซ้อนเหมือนเขา) เช่น ถ้าต้องการใช้ ฟอนต์บุญ ก็เรียก stylesheet ดังนี้

<link rel="stylesheet" href="https://fontuni.com/boon/css/boon-all.css">

ถ้าคุณคุ้นกับ CSS และดูในไฟล์ boon-all.css จะเห็นว่าผมเขียน @font-face ไว้สำหรับฟอนต์ทั้งตระกูลแล้ว พร้อมระบุน้ำหนักกับสไตล์ของฟอนต์ และมี class สำหรับฟอนต์แต่ละตัวแยกไว้ให้ด้วย เช่น .boon-400, .boon-400i เป็นต้น (ใครใช้ SASS ก็ดูซอร์สสั้นๆ ได้ในไฟล์ boon-all.scss )

ตัวอย่างแบบสุดโต่ง วิธีใช้งาน ฟอนต์เวร ในเว็บไซต์อื่นโดยไม่ต้องดาวน์โหลดฟอนต์และไม่ต้องเขียน CSS คือ หน้าปล่อยฟอนต์เวรใน f0nt.com ซึ่งผมมีสิทธิเพิ่มได้แค่เนื้อหาที่เป็น HTML แต่ต้องการอิมพอร์ตฟอนต์เวรเพื่อแสดงวิธีเซ็นเซอร์ของมัน

ข้อความนี้ไม่ต้องการให้คุณอ่าน เพราะผมอิมพอร์ตฟอนต์เวรมาใช้ ด้วย `vain-mon` class

<p>
<style>@import url(/vain/css/vain-all.css);</style>
<span class="vain-mon">ข้อความนี้ไม่ต้องการให้คุณอ่าน เพราะผมอิมพอร์ตฟอนต์เวรมาใช้ ด้วย `vain-mon` class</span>
</p>

ส่วนตัวอย่างการใช้งานหลายฟอนต์ในคราวเดียวกัน ก็เช่น

ข้อความนี้อิมพอร์ตฟอนต์บุญบ้านตัวเอนมาใช้ ด้วย boonbaan-700i class ข้อความนี้อิมพอร์ตฟอนต์บุญตัวบางมาใช้ ด้วย boon-300 class ข้อความนี้อิมพอร์ตฟอนต์บุญถึกตัวตรงมาใช้ ด้วย boontook class (กรุณาอย่าใช้ฟอนต์มั่วซั่วแบบนี้ เพราะมันเลอะเทอะรุงรัง!)

เหตุผลที่ผมเขียน stylesheet ไว้สำหรับฟอนต์ทุกตระกูลที่พร้อมเผยแพร่ ก็เพื่อใช้งานในเว็บไซต์ตัวเองเป็นหลัก ให้มันแสดงผลเว็บฟอนต์ในแต่ละหน้าโปรเจ็คต์แตกต่างกันไป (ส่วนมากเป็นตัวพาดหัว) แล้วที่เขียนบอกไว้ตรงนี้ก็เพราะมันอาจมีประโยชน์กับนักพัฒนาเว็บคนอื่นด้วยครับ

และผมก็ไม่ได้ใจดีแจกแบนด์วิดธ์ฟรีด้วยตัวเองแต่อย่างใด เพราะทุกอย่างในฟอนต์อยู่นี่อยู่ใน GitHub ทั้งหมด! แค่แยกแต่ละโปรเจ็คต์เป็น submodule แล้วใช้ GitHub Pages (หรือ Jekyll) แปลงเป็นเว็บไซต์เท่านั้นเอง แปลว่าวิธีการนี้จะใช้ไม่ได้ก็ต่อเมื่อ GitHub ล่ม ซึ่งคงไม่บ่อย (หรือ CloudFlare ล่ม เพราะผมใช้ระบบ CDN cache ของเขาอยู่)

ไฟล์ CSS ที่สามารถอิมพอร์ตไปใช้ได้ตอนนี้ คือ

  • ฟอนต์บุญ: https://fontuni.com/boon/css/boon-all.css
  • ฟอนต์บุญบ้าน: https://fontuni.com/boonbaan/css/boonbaan-all.css
  • ฟอนต์บุญถึก: https://fontuni.com/bootook/css/boontook-all.css
  • ฟอนต์บุญจด: https://fontuni.com/boonjot/css/boonjot-all.css
  • ฟอนต์เวร: https://fontuni.com/vain/css/vain-all.css

คำเตือนก่อนจบ:

  • CSS ของฟอนต์อยู่นี่ยังไม่นิ่ง และไม่รองรับ IE8 ลงไปนะครับ (ไม่อยากให้ใครใช้บราวเซอร์โบราณ เลยไม่มีไฟล์ eot ให้!)
  • วิธีการที่ว่ามายังไม่เหมาะกับการใช้งานจริงจัง แต่เหมาะกับขั้นเริ่มพัฒนาเว็บไซต์โดยไม่ต้องเสียเวลาดาวน์โหลดฟอนต์
  • และอย่าใช้วิธีอิมพอร์ต CSS แบบนี้กับเว็บไซต์อื่นที่เขาไม่อนุญาตล่ะ!

ในอนาคตก็อยากทำเป็น API ให้เป็นเรื่องเป็นราวกับเขาเหมือนกัน จะได้ไม่ต้องรอ Google Fonts! (แต่ตอนนี้ผมอยากทำฟอนต์อย่างเดียวมากกว่า) ใครมีไอเดียจะเสนอหรืออยากช่วยเรื่องเว็บฟอนต์ก็คุยกันได้นะครับ ถ้าคุณใช้ GitHub ก็เปิด issue ได้ คุยกันใน Twitter, Facebook หรือส่งอีเมลมาก็ได้ แล้วแต่สะดวก